กูดหางค่าง ๒

Pteris biaurita L.

ชื่ออื่น ๆ
ผักกูดขนคางพญานาค (กาญจนบุรี)
เฟิร์นขึ้นบนดิน เหง้าสั้น ตั้งตรง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มีใบย่อย ๕-๑๒ คู่ เว้าลึก โดยเฉพาะใบย่อยคู่ล่าง ๆ เรียงตรงกันข้ามบนแกนกลาง รูปแถบแกมรูปใบหอกปลายเรียวแหลม กลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบย่อยเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บางและสีซีด

กูดหางค่างชนิดนี้เป็นเฟิร์น เหง้าสั้น ตั้งตรง มีเกล็ดตอนปลาย สีน้ำตาลเข้ม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ที่ขอบมีขน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ กว้าง ๒๕-๓๐ ซม. ยาว ๓๐-๖๐ ซม. ใบย่อยหยักเว้าลึก โดยเฉพาะคู่ล่าง ๆ ทำให้มีลักษณะคล้ายใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ก้านใบสีเขียวหรือม่วงแดง ยาว ๓๐-๖๐ ซม. มีเกล็ดสีน้ำตาลที่ร่วงง่าย ก้านใบด้านบนมีร่องตามยาว

 มีใบย่อย ๕-๑๒ คู่ เรียงตรงข้ามบนแกนกลาง รูปแถบแกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบหยักเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบย่อย ใบย่อยคู่ล่างหยักเว้าทางด้านใกล้โคนมากกว่าด้านตรงกันข้าม ใบย่อยเล็กสุดรูปขอบขนานหรือรูปเคียว ปลายแหลมโคนมน แผ่นใบค่อนข้างบาง สีเขียว ผิวเรียบ เส้นใบสานกันเป็นร่างแหตรงโคนใบ ส่วนอื่นแยกสาขาเป็นคู่เห็นได้ชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน



กลุ่มอับสปอร์เรียงต่อเนื่องตามขอบใบย่อย ยกเว้นบริเวณปลายใบและบริเวณที่ขอบใบเว้า เมื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์บางและสีซีด

 กูดหางค่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามไหล่เขาในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับต่ำ ถึงบนภูเขาในป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนของโลก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กูดหางค่าง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pteris biaurita L.
ชื่อสกุล
Pteris
คำระบุชนิด
biaurita
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ผักกูดขนคางพญานาค (กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด